วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

Download Application งานฉีดพลาสติกลงบนสมาร์โฟนของคุณ I-moulder

วันนี้มี Application ดีๆที่เกี่ยวกับงานฉีดพลาสติก สามารถ download ได้ทั้ง Android and IOS  ที่มีชื่อว่า i-moulder
i-Moulder เป็น Application เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและพงพาโดยการ Download ลงบนสมาร์ทโฟน
i-Moulder ได้รับการพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงความรู้ที่รวดเร็วในการฉีดขึ้นรูปพลาสติกขั้นพื้นฐาน สำหรับมืออาชีพ,Toolmakers และนักออกแบบผลิตภัณฑ์

i-Moulder รวมสามข้อมูลพื้นฐานหลัก

1 วัสดุ, GUIDE PROCESS
คู่มือวัสดุที่มีการประมวลผลข้อมูลทั่วไปสำหรับคุณสมบัติของวัสดุที่พบบ่อยในงานฉีด เช่นอุณหภูมิในการฉีด, ค่าเพื่อหดของพลาสติกชนิดต่างๆ, ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวกับการฉีด
2 งานฉีด, คู่มือแก้ปัญหา
โซลูชั่นที่มีคู่มือที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยในงานฉีด และเสนอแนะขั้นตอนการแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์
3 วัสดุ, การค้นหา
สิ่งอำนวยความสะดวกการค้นหาชนิดของพลาสติกที่เป็นฐานข้อมูลที่ครอบคลุมทั่วไปของพอลิเมอร์ชื่อและรายละเอียดผู้ผลิต ชื่อทางการค้า


ทดลองใช้กันดูนะครับ หวังว่าคงเป็นประโยชน์ในการทำงาน Goodluck!!!

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สาเหตุและแนวทางการแก้ไขงานฉีดพลาสติกเบื้องต้น ตอนจบ


การปนเปื้อนบนผิวของชิ้นงาน (Contamination)
การปนเปื้อนบนผิวของชิ้นงาน แสดงดังภาพที่ 7(a) โดยทั่วไปแล้วมีหลายสาเหตุซึ่งมาจากการควบคุมในกระบวนการผลิตที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น เกิดการปนเปื้อนของผงสีหรือเม็ดสี (Pigments) และเม็ดพลาสติกประเภทอื่นในเม็ดพลาสติกที่ต้องการฉีด ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการเก็บวัสดุโดยตรงนอกจากนี้การล้างสกรู (Purging) โดยใช้พลาสติกชนิดที่สองภายหลังจากการฉีดพลาสติกชนิดแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนบนผิวของชิ้นงานได้ หากการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นบนผิวของชิ้นงานมีสีดำหรือสีน้ำตาล อาจไม่ใช่รอยไหม้ (Burn marks) ซึ่งหากเป็นรอยไหม้จะเกิดที่ตำแหน่งเดิมหรือใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมเสมอในขณะที่หากเป็นรอยปนเปื้อน จะเกิดที่ตำแหน่งใด ๆ ก็ได้บนหรือภายในชิ้นงาน เช่น รอยไหม้บนสกรูที่หลุดออกมาบนผิวของชิ้นงาน หรืออาจเป็นเพียงแค่คราบน้ำมันที่เกิดขึ้นบนผิวของแม่พิมพ์เป็นต้น
แนวทางการแก้ไข
1. ตรวจสอบความสะอาดของเม็ดพลาสติกและสถานที่เก็บ และทำความสะอาดกรวยเติม (Hopper) ทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนสีหรือชนิดของพลาสติกที่ใช้
2. ทำการล้างสกรู (Purging) ด้วยพลาสติกเกรดล้างเครื่องที่เหมาะสม หรือถอดสกรูออกมาจากเครื่องฉีดเพื่อขัดทำความสะอาด
3. หากมีการนำพลาสติกที่ผ่านการบดย่อยเพื่อลดขนาด (Regrind) มาผสมกับพลาสติกดั้งเดิม (Virgin) ควรทำความสะอาดเครื่องบด (Crusher) ด้วย
4. ลดอุณหภูมิฉีดของพลาสติหลอมเหลวและ/หรือลดความเร็วในการฉีดและ/หรือลดความเร็วรอบการหมุนสกรูและ/หรือลดแรงดันต้านการหมุนสกรูถอยหลังกลับ ในกรณีที่ฉีดพลาสติกที่เสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อนได้ง่ายยกตัวอย่างเช่น Polyvinyl Chloride (PVC)
5. ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนที่บริเวณด้านหน้าของแม่พิมพ์ และทำความสะอาดแม่พิมพ์ซึ่งอาจมีคราบน้ำมันติดอยู่

รอยฝ้าบริเวณใกล้ทางเข้า (Blush marks)
โดยทั่วไปแล้วการมีรอยฝ้าที่บริเวณใกล้ทางเข้า มีสาเหตุหลักมาจากความเร็วในการฉีดที่สูงเกินไปหรือทางเข้าที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้พลาสติกหลอมเหลวไม่สามารถไหลติดที่บริเวณผนังของแม่พิมพ์ ดังแสดงในภาพที่ 7(b)
แนวทางการแก้ไข
1. ลดความเร็วในการฉีดในช่วงแรกหลังจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มความเร็วในการฉีดตามลำดับ
2. เพิ่มขนาดของทางเข้าและ/หรือเพิ่มขนาดของ Cold slug
3. หากรอยฝ้าเกิดที่บริเวณมุมของชิ้นงาน ให้ปรับความโค้งของมุมภายในแม่พิมพ์ฉีด

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สาเหตุและแนวทางการแก้ไขงานฉีดพลาสติกเบื้องต้น # 5


ชิ้นงานหดตัว (Shrinkage)
โดยปกติแล้วการหดตัวของชิ้นงานเทอร์-โมพลาสติก จะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโครงสร้างของพลาสติกชนิดนั้น ๆ (0.1-2.5%)โดยพลาสติกที่มีโครงสร้างเป็นกึ่งผลึก (Semicrystalline)จะเกิดการหดตัวที่มากกว่าพลาสติกที่มีโครงสร้างแบบอสัญฐาน (Amorphous) ซึ่งปริมาณการหดตัวของชิ้นงานที่ผ่านกระบวนการฉีดขึ้นรูปสามารถพิจารณาได้จากกราฟความสัมพันธ์ระหว่าง ความดัน (Pressure) ปริมาตร
(Volume) และอุณหภูมิ (Temperature) หรือที่เรียกว่า PVT diagram [2]
แนวทางการปรับตั้งค่าที่เครื่องฉีดพลาสติก
1. เพิ่มระยะหรือปริมาตรของครูชั่นและ/หรือเพิ่มความดันคงค้างและ/หรือเวลาในการให้ความดันคงค้าง
2. เพิ่มอุณหภูมิฉีดของพลาสติกหลอม-เหลวและ/หรือเพิ่มอุณหภูมิของแม่พิมพ์ฉีดและ/หรือเพิ่มความดันต้านการหมุนถอยหลังกลับของสกรู
3. เพิ่มเวลาในการเย็นตัวของชิ้นงานภายในแม่พิมพ์ฉีด
แนวทางการปรับแก้ที่แม่พิมพ์ฉีด
เพิ่มขนาดของช่องทางวิ่งและช่องทางเข้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งถ่ายความดันคงค้าง เพื่อชดเชยการหดตัวของชิ้นงานและ/หรือออกแบบแม่พิมพ์เพื่อชดเชยการหดตัวของชิ้นงาน

ชิ้นงานบิดเบี้ยว (Warpage/Distortion)
การเกิดการบิดเบี้ยวหรือโก่งงอของชิ้นงาน มีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของชิ้นงานที่ไม่เท่ากันในทุกทิศทาง เนื่องจากอัตราการเย็นตัวของชิ้นงานภายในแม่พิมพ์ฉีดที่ไม่สม่ำเสมอส่งผลให้เกิดการบิดเบี้ยวและมีรูปร่างไม่ตรงตามต้องการ ดังแสดงในภาพที่ 8(b)
แนวทางการปรับตั้งค่าที่เครื่องฉีดพลาสติก
1. เพิ่มเวลาในการเย็นตัวของชิ้นงานภายในแม่พิมพ์ฉีด
2. เพิ่มระยะหรือปริมาตรของครูชั่นและ/หรือเพิ่มความดันคงค้างและ/หรือเวลาในการให้ความดันคงค้าง
3. เพิ่มอุณหภูมิฉีดของพลาสติกหลอม-เหลวและ/หรือเพิ่มอุณหภูมิของแม่พิมพ์ฉีดและ/หรือเพิ่มความดันต้านการหมุนถอยหลังกลับของสกรู
แนวทางการปรับแก้ที่แม่พิมพ์ฉีด
1. ตรวจสอบตำแหน่งและขนาดของช่องน้ำหล่อเย็นภายในแม่พิมพ์ (Cooling path) เพื่อให้อัตราการเย็นตัวของชิ้นงานเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
2. ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการวิเคราะห์การบิดเบี้ยวของชิ้นงานที่เกิดขึ้นจากการออกแบบช่อทางของน้ำหล่อเย็นก่อนทำการผลิตแม่พิมพ์จริง โดยตัวอย่างที่ได้จากการวิเคราะห์แสดงดังภาพที่ 8(b)
3. เพิ่มขนาดของช่องทางวิ่งและช่องทางเข้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งถ่ายความดันคงค้างเพื่อชดเชยการหดตัวของชิ้นงาน
4. หลีกเลี่ยงการออกแบบชิ้นงานที่มีมุมแหลม และมีความหนาของผนังที่แตกต่างกันมาก

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สาเหตุและแนวทางการแก้ไขงานฉีดพลาสติกเบื้องต้น # 4


โพรงอากาศ (Voids/Bubbles)
โพรงอากาศที่เกิดขึ้นภายในชิ้นงานฉีดพลาสติก ดังแสดงในภาพที่ 5 แตกต่างจากรอยพุพอง (Blisters) ซึ่งเกิดขึ้นที่บริเวณผิวของชิ้นงาน โดยทั่วไปแล้วการเกิดโพรงอากาศภายในชิ้นงาน มีสาเหตุมาจากการหดตัว (Shrinkage)ของชั้นแกนกลางภายในชิ้นงาน (Core layer) ในช่วงระหว่างการเย็นตัวภายในแม่พิมพ์ฉีด ซึ่งหากบริเวณชั้นผิวของชิ้นงานที่แข็งตัว (Solidified)
แนวทางการปรับตั้งค่าที่เครื่องฉีดพลาสติก
1. เพิ่มครูชั่น (Cushion) และ/หรือเพิ่มความดันคงค้างและ/หรือเวลาที่ให้ความดันคงค้าง
2. เพิ่มอุณหภูมิฉีดของพลาสติกหลอม-เหลวและ/หรือเพิ่มอุณหภูมิของแม่พิมพ์ฉีดและ/หรือเพิ่มความเร็วฉีด
3. เพิ่ม Back pressure เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของเนื้อพลาสติกหลอมเหลว (Melt density) หากเกิดฟองอากาศภายในเนื้อพลาสติกหลอมเหลวก่อนการไหลเข้าสู่แม่พิมพ์ฉีด
4. เพิ่มเวลาในการเย็นตัวของชิ้นงานภายในแม่พิมพ์ฉีด
แนวทางการปรับแก้ที่แม่พิมพ์ฉีด
1. หากเป็นไปได้ควรปรับลดขนาดความหนาของชิ้นงาน
2. เพิ่มขนาดทางเข้าและทางวิ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้ความดันคงค้างในการชดเชยการหดตัวของชิ้นงาน
3. ลดขนาดทางเข้า หากฟองอากาศเกิดขึ้นภายในพลาสติกหลอมเหลวก่อนไหลเข้าสู่โพรงแม่พิมพ์
4. ตรวจสอบขนาดและตำแหน่งของช่องระบายอากาศภายในโพรงแม่พิมพ์ว่าเพียงพอหรือไม่

รอยประกายเงิน (Silver streaks)
รอยประกายเงินที่เกิดขึ้นบนผิวชิ้นงาน มีสาเหตุหลักมาจากความชื้น (Moister) ภายในเม็ดพลาสติกที่ทำการฉีดขึ้นรูป โดยความชื้นภายในเม็ดเมื่อได้รับความร้อนจะสลายตัวเป็นก๊าซเมื่อถูกฉีดเข้าไปในแม่พิมพ์ฉีด ซึ่งหากแม่พิมพ์มีช่องระบายอากาศไม่เพียงพอ หรือหากทำการฉีดที่ความเร็วฉีดสูงเกินไป จะปรากฏรอยประกายเงินบนผิวของชิ้นงาน ดังแสดงในภาพที่ 6(a)
แนวทางการปรับตั้งค่าที่เครื่องฉีดพลาสติก
1. ลดความเร็วและแรงดันในการฉีดเพื่อให้อากาศหรือก๊าซสามารถหนีออกจากแม่พิมพ์ได้ทัน
2. ลดแรงปิดแม่พิมพ์เพื่อช่วยให้ระบายอากาศออกได้ดีขึ้น
3. เพิ่มความดันต้านทานการหมุนถอยหลังกลับของสกรูเพื่อลดปริมาณอากาศหรือเพิ่มความหนาแน่นของเนื้อพลาสติกหลอมเหลว
4. ลดระยะหรือปริมาตรในการทำ Suck back
แนวทางการปรับแก้ที่แม่พิมพ์ฉีด
ตรวจสอบขนาดและตำแหน่งของช่องระบายอากาศว่าเพียงพอหรือไม่
วัสดุที่ใช้ในการฉีดขึ้นรูป
ทำการอบเม็ดพลาสติกก่อนการฉีดขึ้นรูปโดยสอบถามข้อมูลจากผู้ผลิตเม็ดพลาสติกโดยตรง


รอยไหม้ (Burn marks)
รอยไหม้บนผิวชิ้นงานมีสาเหตุมาจากการที่อากาศหรือก๊าซที่อยู่ภายในโพรงแม่พิมพ์ ถูกพลาสติกหลอมเหลวอัดด้วยแรงดันที่สูงมาก จนเกิดความร้อนสูงถึงประมาณ 800–1,000 oC ดังแสดงในภาพที่ 6(b)
แนวทางการปรับตั้งค่าที่เครื่องฉีดพลาสติก
1. ลดความเร็วและแรงดันในการฉีด เพื่อให้อากาศหรือก๊าซสามารถหนีออกจากแม่พิมพ์ได้ทัน
2. ลดแรงปิดแม่พิมพ์เพื่อช่วยให้ระบายอากาศออกได้ดีขึ้นและ/หรือลดอุณหภูมิฉีดของพลาสติกหลอมเหลว
3. ลดระยะหรือปริมาตรการทำ Suck back เพื่อลดปริมาณอากาศภายในห้องหลอม
แนวทางการปรับแก้ที่แม่พิมพ์ฉีด
1. ตรวจสอบขนาดและตำแหน่งของช่องระบายอากาศว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งอาจเพิ่มตำแหน่งของช่องระบายอากาศที่บริเวณก้านกระทุ้งได้
2. ในกรณีที่รอยไหม้เกิดที่บริเวณรอยเชื่อมประสาน ให้เปลี่ยนตำแหน่งของทางเข้าหรือทำช่องระบายอากาศเพิ่มที่บริเวณนั้น